อำเภอเวียงแก่น


เจ้าหลวงเวียงแก่น ชายแดนไทยลาว น้ำงาวพราวใส ผาไดเด่นดัง ผาตั้งเด่นนาน ส้มโอหวานทองดี

   ประวัติความเป็นมา
                    กิ่งอำเภอเวียงแก่น ตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2530 และได้เปิดทำการให้บริการประชาชนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2530 เป็นต้นมา โดยแบ่งท้องที่การปกครองจาก อ.เชียงของ จ.เชียงราย ออกมาตั้งเป็นกิ่ง อ.เวียงแก่น มีท้องที่การปกครอง 3 ตำบลประกอบด้วย ต.ม่วงยาย ต.หล่ายงาว ต.ปอ ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอเวียงแก่นปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็น"เมืองเวียงแก่น" ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำงาว มีอายุประมาณ 700 ปี ราว ๆ สมัยกรุงสุโขทัยและเมืองเชียงราย มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่เศษ มีคูน้ำล้อมทั้ง 4 ทิศ ลึกประมาณ 10 เมตร โดยตลอดมีกำแพงกั้นอาณาเขต ของตัวเมืองอย่างแน่นหนา มี "เจ้าหลวงเวียงแก่น" เป็นผู้ครองเมือง ต่อมาได้เกิดสงครามสู้รบกับกองทัพของพ่อขุนเม็งรายมหาราช จากการสู้รบครั้งนั้น เจ้าหลวงเวียงแก่นผู้ครองเมือง ได้สิ้นพระชนม์ในที่รบไปด้วย จากนั้นเมืองเวียงแก่นได้ถูกทิ้งร้าง ดังนั้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่เจ้าหลวงเวียงแก่น ซึ่งเป็นผู้ครองเมืองเวียงแก่นในอดีต และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ กิ่งอำเภอ ที่ตั้งขึ้นใหม่ ประชาชนทั้ง 3 ตำบลจึงได้เสนอชื่อกิ่งอำเภอว่า "กิ่งอำเภอเวียงแก่น" ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอเวียงแก่น เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2538



เมืองโบราณดงเวียงแก่น


                เมืองโบราณดงเวียงแก่น ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านม่วง ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเวียงแก่น ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 200 เมตร เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่บนเนินสูงราว 3035 เมตร เนื้อที่ประมาณ 286 ไร่ 1 งาน 86.09 ตารางวา เป็นพื้นที่ป่ารกทึบ มีพืชพันธุ์ทางธรรมชาติ สมุนไพร และสัตว์ป่านานาชนิด ปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว เป็นพื้นที่รับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลม่วงยาย 






แก่งผาได


          ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 บ้านห้วยลึก ตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 14 กิโลเมตร


                     เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลม่วงยาย มีพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ เป็นสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ มองเห็นธรรมชาติที่สวยงาม โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายน เดือนพฤษภาคม จะเป็นช่วงน้ำลดน้อยลง ทำให้มองเห็นโขดหินที่โผล่พ้นแม่น้ำ ปกคลุมไปด้วยพื้นพันธ์ธรรมชาติ ประกอบกับอากาศที่บริสุทธิ์ มองเห็นฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง คือ สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


                    แก่งนี้นอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้ว ยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งกำเนิดไก เช่นเดียวกับแก่งหินใต้น้ำ หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำเล่นทรายของนกอีกด้วย และมีแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งหินตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ คือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาคขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำในฤดูน้ำหลาก และโผล่เหนือน้ำในฤดูน้ำลดมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า ผาตั้ง ก็จะแวะมาท่องเที่ยวที่แก่งผาไดแห่งนี้ด้วย



ดอยผาตั้ง

                        เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยผาหม่น ซึ่งเป็นเทือกเขาแนวพรมแดนไทย-ลาว สูง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ดอยผาตั้งถือเป็นเป็นจุดชมวิวไทย-ลาว และทะเลหมอกที่สวยงามไม่แพ้ภูชี้ฟ้า รถยนต์สามารถขึ้นเกือบถึงจุดชมวิวบริเวณเนินร้อยสามได้ บนจุดชมวิวจะเป็นแนวเขาซึ่งชมวิวได้ตลอดแนว


                      นอกจากนั้นบนดอยยังมีจุดที่น่าสนใจ คือ ผาบ่อง ประตูสยามสู่ลาว เป็นช่องหินขนาดใหญ่คนเดินลอดได้อยู่ในแนวหน้าผา มองเห็นทิวทัศน์ประเทศลาวได้ ช่องเขาขาด เป็นช่องเขาที่หินขาดจากกันมองเห็นแม่น้ำโขงพาดผ่านตรงช่องเขาขาดพอดี โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม ดอกนางพญาเสือโคร่งและดอกเสี้ยวจะบานสะพรั่งงดงาม เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวจีนฮ่อ ม้ง และเย้า โดยเฉพาะจีนฮ่อนั้น อดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของกองพล 93 ซึ่งอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาตั้งนี้ และด้วยอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การทำการปลูกพืชเมืองหนาว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนดอยผาตั้งจึงทำอาชีพเกษตร ปลูกบ๊วย ท้อ สาลี่ แอปเปิ้ล และชา ซึ่งจะให้ผลผลิตมากในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการกระจายรายได้แก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี บนดอยผาตั้ง มีที่พัก สถานที่กางเต็นท์และร้านอาหาร สามารถไปเที่ยวได้ตลอดปี



การเดินทาง
                จากจังหวัดเชียงราย ใช้เส้นทางเชียงราย-เวียงชัย พญาเม็งราย บ้านต้า (ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173 และ 1152) 50 กิโลเมตร บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ (ทางหลวง 1020 ) 45 กิโลเมตร บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด (ทางหลวงหมายเลข 1155 ) 17 กิโลเมตร และปางหัด-ดอยผาตั้ง อีก 15 กิโลเมตร สภาพเส้นทางบางช่วงสูงชัน

ที่มา :  http://board.postjung.com  วันที่ 8 มกราคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น